การแสดงโขนสด ครูวิก ฉิมพลี
ประเภทวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : ศิลปะการแสดง/การละเล่น
การแสดงโขนสดเป็นศิลปะการแสดงที่ผสมผสานและประยุกต์มาจากศิลปะการแสดงราชสำนักที่มีมานานและศิลปะการแสดงท้องถิ่นหลายประเภท ได้แก่ โขน หนังตะลุง ลิเก และละครชาตรี จนมีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ โขนสดใช้บทพูดที่เป็นร้อยแก้ว บทร้องแต่งเป็นกลอน บทพากย์บางตอนเป็นร่ายยาว บางตอนก็แต่งเป็นกาพย์เหมือนโขน แต่งกายยืนเครื่อง สวมหัวโขนบนศีรษะแต่ไม่คลุมหน้า ครูวิก ฉิมพลี เป็นสารวัตรกำนันตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ อยู่บ้านเลขที่ 8/2 หมู่ที่ 5 ตำบลศีรษะจระเข้ใหญ่ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ โขนสดคณะสุวิทย์ ฉิมพลี ก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกหัดโขนสด อบต.ศีรษะจระเข้ใหญ่ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนวัดจระเข้ใหญ่ (สามัคคีพิทยาคาร) มีความชำนาญเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องการฝึกหัดแสดงโขนสด โดยได้รับการถ่ายทอด ภูมิปัญญานี้มาจาก นายบุญชู ชลประทีป ซึ่งเป็นครูโขนสดชื่อดังของเมืองไทย นายวิก ฉิมพลี มีประสบการณ์ทำเรื่องนี้มา 20 ปีเศษ ได้ฝึกหัดเด็กอายุ 4-12 ปี ที่ว่างงานหลังจากเลิกเรียนแล้ว เพื่อให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และยังเป็นการป้องกันยาเสพติดให้โทษ ทั้งได้นำไปแสดงตามงานต่างๆทำให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน จนได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีความสามารถพิเศษด้านการฝึกหัดโขนสดของตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่และเป็นบุคคลที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนวัดจรเข้ใหญ่ “โขนสดเด็กครูวิก” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เป็นรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ด้านศิลปะการแสดง