ประเพณีส่งเรือคลองหนองงูเห่า

ประเภทวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : พิธีกรรมและเทศกาล

บ้านคลองหนองงูเห่า เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณหนองงูเห่า ซึ่งใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ  โดยคลองหนองงูเห่าในอดีตเป็นคลองธรรมชาติ  ลักษณะคลองคด ไม่กว้างมากประมาณ 3 วา ต้นคลองหนองงูเห่าอยู่ด้านเหนือ ตรงบริเวณสามแยกคลอง หน้าวัดหัวคู้  ที่เรียกว่า หัวแหลม หมายถึงที่แหลมของท้องน้ำ ตรงจุดนี้เป็นต้นคลองจรเข้ด้วย จากต้นคลอง ได้ไหลลอดถนนสายศรีวารีมาทางด้านทิศตะวันตกเลียบแนวเขตท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิไปจนสบกับคลองบางนา ส่วนช่วงกลางคลองหนองงูเห่ายังแยกออกไปยังคลองดอน คลองปากน้ำ และคลองบางนาได้ ภายในหมู่บ้านจะมีศาลประจำหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณริมคลองหนองงูเห่า เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน คือ ศาลเจ้าพ่อสามร้อยยอด  ศาลเจ้าพ่อพลายชุมพล และศาลเจ้าพ่อทุ่ง ลักษณะเป็นศาลทรงเรือนไทย ขนาดของศาลคนสามารถขึ้นไปอยู่ในศาลได้หนึ่งคน คนในอดีตเล่าว่า บริเวณนี้จะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้น แผ่กิ่งก้านสาขา ร่มครึ้มและเย็นสบาย  แต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เมื่อตอนเป็นเด็กพายเรือผ่านบริเวณนี้จะรู้สึกขนลุก น่ากลัวและวังเวง จนบอกไม่ถูก สำหรับศาลเจ้าพ่อสามร้อยยอด มีความเป็นมาจากเรื่องที่ชาวบ้านเล่าสืบกันในท้องถิ่นที่เชื่อมโยงถึงประวัติศาสตร์ชาติว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าตากสินทรงนำทัพผ่านมายังด้านตะวันออก ก็ได้มีทหารผู้หนึ่งเสียชีวิตลงด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ  บ้างก็ว่าป่วยตาย  พระเจ้าตากจึงได้อธิฐานขอให้ดวงวิญญาณทหารผู้นี้สถิตอยู่ ณ ศาลเจ้าริมคลองนี้ซึ่งก็คือบริเวณชายคลองหนองงูเห่านั่นเอง 

          ประเพณีส่งเรือคลองหนองงูเห่า ชาวบ้านในท้องถิ่นมีความเชื่อว่าเป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ประกอบสัมมาชีพให้ได้ผลดี และลอยทุกข์โศกโรคภัยทั้งหลายอันเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ไปกับเรือลำนี้ จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีแรก ข้างขึ้นของเดือนเจ็ด ก่อนเริ่มวันประเพณีจะมีการตั้งเสาผูกผ้าขาวม้า ชักธงขึ้นเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่า จะมีการส่งเรือในวันพรุ่งนี้  ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะตระเตรียมกับข้าว คาว หวาน และประดิษฐ์เรือของแต่ละครอบครัว เพื่อไปร่วมงานในงานวันรุ่งขึ้น  การประดิษฐ์เรือนั้นจะใช้วัสดุธรรมชาติคือกาบกล้วย ประดิษฐ์เป็นรูปเรือ  ปัจจุบันจะใช้โฟม หรือบางครอบครัวก็ใช้ไฟเบอร์ ขนาดเล็กหรือใหญ่ก็แล้วแต่ละครอบครัว  ภายในเรือ ชาวบ้านจะปั้นดินเหนียวเป็นหุ่นคนจำนวนเท่ากับจำนวนคนในครอบครัว รวมทั้งมีการปั้นสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นวัว ควาย หรือสุนัข  พร้อมมีขนมต้มต้มแดง ขนมต้มขาว น้ำ เหล้า พริก หอม กระเทียม เกลือ และเงินใส่ไปในเรือด้วย  โดยหันหัวเรือไปทางทิศเหนือ ซึ่งเรือจะมีการประดับประดาธงอย่างสวยงาม

          ประเพณีส่งเรือคลองหนองงูเห่าจะไม่นำเรือไปลอยในลำคลอง เพื่อให้ลอยออกสู่ทะเลเหมือนประเพณีส่งเรือของจังหวัดอื่น ๆ แต่จะให้สมาชิกในครอบครัวช่วยกันยกเรือไปยังจุดที่พักเรือชายป่าใกล้ๆ บริเวณที่ตั้งเครื่องสังเวยไหว้ผี ซึ่งจะพบเห็นได้เช่นเดียวกับประเพณีส่งเรือคลองดอน ในอดีตประเพณีส่งเรือที่หมู่บ้านนี้จะมีเรือประมาณเกือบสามสิบลำ แต่ปัจจุบันจะเหลือจำนวนเรือน้อยมาก บางปีมีสองลำ หรือลำเดียว ซึ่งประเพณีส่งเรือนี้ ชาวบ้านในท้องถิ่น มีความเชื่อว่าจะเป็นการลอยทุกข์โศก โรคภัย เป็นการสะเดาะเคราะห์ไปกับเรือลำนี้ และอาหารที่ใส่ไปก็มีความเชื่อว่าจะเป็นอาหารที่นำไปกินระหว่างทาง  เมื่อถึงวันประกอบพิธีชาวบ้านทุกครอบครัวก็จะนำเรือมาวางรวมกันบริเวณพิธีหน้าศาลของหมู่บ้าน และรอทำพิธีกรรมร่วมกัน