ประเพณีแข่งเรือวัดมงคลนิมิตร

วัดมงคลนิมิตรตั้งอยู่ริมคลองสำโรง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า พระครูมงคลวิหารกิจ (หลวงพ่อสือ) อดีต
เจ้าอาวาสรูปแรก มีเรือมาดลำหนึ่งชื่อว่า “สลัดดำ” สมัยก่อนชาวบ้านมาทอดกฐินสามัคคีจะมาทางเรือ เมื่อเสร็จพิธีก่อนกลับบ้านก็จะพายเรือแข่งกันสนุกสนาน จึงเกิดประเพณีแข่งเรือขึ้น
ปี ๒๕๕๓ น้ำในคลองสำโรงเน่าเสียถึงขั้นวิกฤต พระครูสุตรัตโนภาส, ดร. เจ้าอาวาสวัดมงคล
นิมิตร ดำริให้จัดประเพณีแข่งเรือ เนื่องจากวิถีของคนในย่านนี้คือวิถีคลอง อีกทั้งเป็นกุศโลบายให้ชุมชนช่วยกันดูแลรักษาลำคลอง
วัดมงคลนิมิตรเริ่มจัดแข่งขันเรือมาดเมื่อปี ๒๕๕๗ การแข่งเรือมาดครั้งแรก จัดแข่งขัน ๔ ประเภท คือ เรือมาดเดิม ๙ ฝีพาย เรือมาดเดิม ๑๒ ฝีพาย เรือมาดแต่ง ๙ ฝีพายและเรือมาดแต่ง ๑๒ ฝีพาย
ประเพณีการแข่งเรือที่วัดมงคลนิมิตรจะจัด ๒ วันในช่วงทอดกฐินสามัคคี คือ วันเสาร์ก่อนทอดกฐินแข่งเรือมาด วันอาทิตย์แข่งเรือยาวประเพณี 30 ฝีพาย เจ้าอาวาสวัดมงคลนิมิตรเล่าว่า “บางครั้งแข่งกันถึงเย็นค่ำ มืดจนต้องเพิ่มไฟส่องสว่าง กำหนดการกฐินทุกปี กฐินจะทอดหลังพระฉันเพล แต่การแข่งเรือแข่งทั้งวัน บรรยากาศสนุกสนานเหมือนกับงานวัด”
เรือยาวที่มาแข่งขันมาจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก นครสวรรค์ เป้นต้น เรือมาดที่มาแข่งมาจากท้องถิ่นสมุทรปราการ เช่น บางบ่อ คลองด่าน พระประแดง เปร็ง เรือมาดจากชุมชนมุสลิมใกล้เคียง เป็นประเพณีที่เชื่อมสัมพันธ์คนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
บุญประเพณีสร้างสรรค์ วัฒนธรรมสร้างสุข ประเพณีทางสายน้ำคือรากเหง้าที่แสดงถึงความเป็นไทย การแข่งเรือเชื่อมความสัมพันธ์ผู้คน สร้างจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนมีความสุข และสนุกสนาน การที่ทุกฝ่ายมาร่วมแรงร่วมใจ ร่วมพลัง จัดแข่งเรือมาดและเรือยาวประเพณี ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การรักษาจิตวิณญาณ ประเพณีและวัฒนธรรมทางสายน้ำของไทย”