นกปากห่าง

ประเภท : นกที่พบในพื้นที่เกษตรกรรม

วงศ์นก : วงศ์นกกระสาและนกตะกรุม (Ciconiidae)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :

ชื่อสามัญ :

ลักษณะทั่วไป

นกชนิดนี้มีขนาดใหญ่ประมาณ 81 เซนติเมตร  มีขนาดใกล้เคียงกับห่านบ้าน  นกชนิดนี้มีเอกลักษณ์คือ มีปากใหญ่ยาวสีเทาดำ ปลายปากแหลม  กลางปากค่อนไปทางปลายปากมีลักษณะเปิดเป็นช่องว่าง   ซึ่งเมื่อปากบนและปากล่างปะกบกันจะทำให้สามารถมองเห็นช่องว่างของปากได้อย่างชัดเจน  ด้วยเหตุนี้ จึงถูกเรียกชื่อว่า “นกปากห่าง” โดยสภาพที่ช่วงกลางปากของนกชนิดที่มีลักษณะเปิดเป็นช่องว่าง จะทำให้ช่วงกลางปากมีลักษณะแยกออกจากกันซึ่งจะช่วยทำให้นกสามารถจับหอยโข่งซึ่งเป็นอาหารโปรดนั้นไม่ให้ลื่นหลุดออกจากปาก  คอของนกมีขนาดยาวและขามีขนาดยาวมากสีชมพู แข้งและตีนสีชมพูคล้ำ  ในช่วงระยะเวลานอกฤดูผสมพันธ์ ขนปกคลุมลำตัวสีเทาอ่อน ขนโคนปีก ขนปีกบินและหางสีดำ  ในช่วงฤดูผสมพันธ์ ขนปกคลุมลำตัวสีขาวมากขึ้น แข้งและตีนสีแดง  เมื่ออยู่ในระยะนกวัยอ่อน  หัวและคอสีน้ำตาล แข็งสีดำ ปากมีขนาดเล็กและไม่มีช่องว่าง เมื่อขณะที่นกชนิดนี้โผบินอยู่ในท้องฟ้า จะสามารถเห็นขนใต้ปีกสีขาวสลับดำ  และเห็นปากหนาของนกและมีขนาดใหญ่ได้อย่างชัดเจน  หากเรายืนอยู่ในระยะใกล้ๆ ขณะที่นกกำลังบินจะได้ยินเสียงนกกระพือปีกมีเสียงดังมาก

พฤติกรรมและถิ่นอยู่อาศัย

ในพื้นที่อำเภอบางเสาธง พบว่านกชนิดนี้อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ ลำคลอง หนอง บึง ทุ่งนา พื้นที่ชุ่มน้ำ บ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกุ้ง โดยมักพบนกอยู่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่ หากินโดยการเดินท่องในน้ำหรือในดินเลนอย่างช้า ๆ  แล้วใช้ปากที่มีลักษณะเปิดเป็นช่องว่าง (ปากห่าง) จับหอยเชอร์รี่หรือหอยโข่งนั้นขึ้นมาจากน้ำ แล้วใช้ปลายปากแหลมจิกเนื้อหอยโข่งออกมาจากเปลือกหอยแล้วกลืนกินหอยเข้าไปทั้งตัว  ซึ่งถ้าเราเดินไปตามทางเท้าเรียบตามลำคลองในพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอบางเสาธง ถ้าโอกาสดีเราจะสามารถพบเห็นนกชนิดนี้กำลังจิกกินหอยโข่งก็เป็นไปได้ หรือจะพบเห็นซากของเปลือกหอยโข่งที่ถูกนกปากห่างจิกเนื้อหอยไปกินแล้วทิ้งระgเกระกะเกลื่อนกลาดเต็มทางเท้าก็เป็นได้  ในช่วงเวลากลางคืน นกชนิดนี้จะหลับนอนกันเป็นกลุ่ม ๆ บนยอดกิ่งไม้ในร่องสวนหรือริมคลองที่สงบเงียบปราศจากการรบกวนของมนุษย์และนกชนิดนี้มักจะพักผ่อนหลับนอนในต้นไม้ที่เดิมเป็นประจำทุกคืนตราบเท่าทียังไม่มีการรบกวนจากมนุษย์     ซึ่งบริเวณยอดของต้นไม้ที่กลุ่มนกชนิดนี้ใช้เป็นที่พักผ่อนหลับนอน นกก็จะขับถ่ายมูลของมันออกมา จำนวนมูลที่ขับถ่ายออกมาจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของนกที่พักอยู่บนต้นไม้  ซึ่งมูลของนกที่ขับถ่ายออกมาจะส่งผลทำให้ใบไม้เสียหายและล่วงหล่นไป และเมื่อใบไม้ล่วงหล่นเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลทำให้ต้นไม้มีโอกาสจะตายได้ในที่สุด  ซึ่งเราสามารถพบเห็นต้นไม้ในสวนหรือตามลำคลองที่นกชนิดนี้มาพักอาศัยนั้นยืนต้นตายอยู่พอสมควร

อาหาร

หอยเชอร์รี่  หอยโข่ง

การผสมพันธุ์

นกชนิดนี้ทำรังบนต้นไม้สูง โดยใช้กิ่งไม้วางซ้อนกันแบบง่าย ๆ ตามง่ามกิ่งไม้  รังเป็นรูปจานบริเวณตรงกลางเป็นแอ่งตื้น ๆ   และรองรังด้วยต้นหญ้า  แม่นกออกไข่สีขาวจำนวน 2-4 ฟอง   โดยพ่อแม่นกจะช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกจนลูกนกแข็งแรงสามารถบินออกจากรังไปหากินได้เอง

สถานภาพ

จัดเป็นนกประจำถิ่นและสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย  ในเขตพื้นที่อำเภอบางเสาธงสามารถพบเห็นนกปากห่างได้ในบริเวณ หนอง บึง บ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกุ้ง และถ้าเราล่องเรือในลำคลองของพื้นที่อำเภอบางเสาธงในเขตพื้นที่ริมคลองบริเวณที่มีบ้านพักอาศัยไม่มากนัก ก็จะสามารถพบเห็นนกปากห่างได้   และเมื่อเรือแล่นเข้าใกล้แหล่งที่อาศัยของนกปากห่าง นกก็จะโผบินขึ้นไปในท้องฟ้าเป็นภาพที่ชินตาสำหรับคนในพื้นที่อำเภอบางเสาธง