การละเล่นว่าวจุฬาว่าวปักเป้า

ประเภทวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : กีฬาการละเล่นศิลปะการป้องกันตัว

จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ติดทะเล ในอดีตจะเล่นว่าวกันหน้าแล้งรอลมตะเภาที่มาจากทะเลในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ซึ่งในอำเภอบางเสาธงอยู่ในบริเวณตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่เชื่อมต่อกับตำบลบางเสาธง

          คุณชาติชาย กลิ่นโสภณ ชาวตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ผู้อนุรักษ์ว่าวจุฬา ให้ข้อมูลว่า ประมาณเกือบ 20 ปี ขณะที่ทำงานอยู่มาบตาพุด จังหวัดระยอง วันหยุดช่วงวันสงกรานต์ได้กลับบ้านมีเพื่อนนำว่าวจุฬามา 1 ตัว ขนาดประมาณ อก 30-40 เซนติเมตร ไม่รู้ว่าเพื่อนได้มาจากไหน ประด้วยกระดาษสีแดง จึงได้วัดส่วนของว่าวคือ อก 1 อัน ปีก 2 อัน ขากบ 2 อัน จึงได้หัดทำแล้วลองไปขึ้น ปรากฏว่าขึ้นได้และส่ายดี จึงหัดทำและทดลองขยายส่วนของว่าวให้ตัวใหญ่ขึ้น ขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง และได้รู้ว่าการทำว่าวจุฬานั้นยากมาก ต้องเก็บรายละเอียดทุกขั้นตอน ว่าวจุฬาจึงจะขึ้นและส่ายอย่างสวยงาม

              ในช่วงหน้าแล้งคือเดือนมีนาคม- เมษายนของทุกปีจะตรงกับวันหยุด เมื่อได้กลับบ้านจึงมาทำว่าวจุฬาขนาดต่าง ๆ ทำเล่นกันกับเพื่อน ๆ ว่าวจุฬาเคยเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ จะมีคนแก่รุ่นคุณปู่ คุณตาเขาเล่นกัน หลังจากหัดทำหัดขึ้นกับเพื่อนกัน มาหลายปีจึงคิดจัดแข่ง เพื่อจะได้รู้ว่าในบริเวณแถวตำบลศีรษะจระเข้ใหญ่ ตำบลบางเสาธง อำเภอใกล้เคียงยังมีที่ไหนเล่นว่าวจุฬากันบ้าง ว่าวจุฬาที่แข่งขันมี 4 ขนาด คือ อกขนาด 75 ซม  100 ซม. 150 ซม, 200 ซม. จึงจัดแข่งมาทุกปี จนถึงปัจจุบัน 12 ปีเต็ม     ต่อมาปี 2555 ได้ลาออกจากงานที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และมาอนุรักษ์ว่าวจุฬาอย่างจริงจัง  (ชาติชาย  กลิ่นโสภณ, สัมภาษณ์)